สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด เป็นเซลล์ที่มีความสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า การที่สเต็มเซลล์แบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่ที่เหมือนเดิมทุกประการได้เป็นระยะเวลาที่นานมาก ถือเป็นลักษณะพิเศษซึ่งแตกต่างจากเซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ประสาท เซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะเหล่านี้ไม่สามารถแบ่งตัวขึ้นมาใหม่ได้ ในขณะที่สเต็มเซลล์แบ่งตัวขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลากระบวนการนี้เรียกว่า proliferation สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด ที่แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ในหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการ เป็นเวลาหลายเดือน จะก่อให้เกิดเซลล์นับเป็นล้านๆ เซลล์ และเซลล์ที่แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ก็ยังคงเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงเหมือนกับเซลล์แม่
เมื่อสเปิร์มเข้าปฏิสนธิกับไข่ และต่อมาก็พัฒนาไปเป็นตัวอ่อน หรือที่เรียกว่า เอ็มบริโอ (embryo) ช่วงเป็นตัวอ่อนเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด และแบ่งต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้กลุ่มเซลล์ตัวอ่อนระยะ 3 - 5 วัน ที่มีรวมกันประมาณ 150 เซลล์ เรียกว่า ระยะบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ภายในเซลล์บลาสโตซิสต์นี้มีกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า มวลเซลล์ชั้นใน หรือกลุ่มเซลล์ที่อยู่ชั้นใน ซึ่งมีจำนวนเซลล์ประมาณ 30 เซลล์ ซึ่งมวลเซลล์นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นสเต็มเซลล์ ซึ่งมีความสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะ โดยเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้แทบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นเซลล์กระดูก เซลล์เม็ดเลือด เซลล์สมอง เซลล์ตับ รวมแล้วกว่า 220 ชนิด ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และการที่สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดถือกำเนิดมาจากช่วงการพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนจึงเรียกชื่อเต็มๆ ว่าสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน
แหล่งของสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดอีกแหล่งหนึ่งได้มาจากเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายมนุษย์หลายชนิด สเต็มเซลล์ในระบบเลือดเป็นวัตถุดิบในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง แม้กระทั่งเกล็ดเลือด เดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า สเต็มเซลล์จากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใดก็ตามจะไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างชนิดได้ เช่น สเต็มเซลล์ในระบบเลือดมีศักยภาพเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เม็ดลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ประสาทในสมองได้ สเต็มเซลล์ในตับก็จะสร้างเซลล์ตับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า สเต็มเซลล์ในเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ในเนื้อเยื่ออีกชนิดหนึ่งได้ เช่น เซลล์ในระบบเลือดเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ประสาทหรือเซลล์ตับ เซลล์ในไขกระดูกสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้
สเต็มเซลล์ไม่เหมือนเซลล์สมอง เซลล์เม็ดเลือด หรือเซลล์ประสาท ตรงที่สามารถสำเนาเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่จำกัด ซึ่งเซลล์อื่นๆ จะไม่มีคุณสมบัตินี้ เช่น เซลล์สมองของนักร้องชื่อดังถูกทำลายไปเนื่องจากอุบัติเหตุ ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียไปได้ เป็นต้น สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ถูกแยกไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการระยะหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นเวลาหลายเดือน โดยวิธีที่เหมาะสม จะมีศักยภาพที่จะสร้างเซลล์ได้นับล้านเซลล์ ด้วยคุณสมบัติข้อนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะศึกษาวิธีเลี้ยงสเต็มเซลล์ที่เหมาะสมในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เซลล์สามารถเจริญได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งหมายถึง ปริมาณของเซลล์ที่มากพอที่จะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
นักวิทยาศาสตร์สามารถหาแหล่งสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดได้จากแหล่งแรกคือ ร่างกายของเราเอง เช่น จากระบบเลือด ระบบประสาท แหล่งที่สองเป็นสเต็มเซลล์ที่มาจากการแท้ง และแหล่งที่สาม เป็นสเต็มเซลล์ที่มาจากเอ็มบริโอของมนุษย์ซึ่งมีอายุไม่กี่วัน ซึ่งเอ็มบริโอนั้นอาจจะมาจากการปฏิสนธิ คือ ถ้าไข่ปฏิสนธิกับเซลล์อสุจิ ไม่ว่าจะเป็นในร่างกายหรือนอกร่างกาย เมื่อนำไปย้ายฝากก็จะได้เด็กหลอดแก้ว หรืออาจมาจากการโคลนนิ่งก็ได้ ซึ่งในการโคลนนิ่งนั้น นักวิทยาศาสตร์จะนำนิวเคลียสของไข่ออก จากนั้นเอาเซลล์ร่างกายใส่เข้าไปเหมือนกับทฤษฎีการโคลนแกะดอลลี่ แต่แทนที่จะเอาไปย้ายฝากในท้องของตัวแม่และรอจนได้ลูกโคลน แต่นักวิทยาศาสตร์จะเอาเอ็มบริโอในระยะบลาสโตซิสมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ในห้องปฏิบัติการแทน
ในห้องปฏิบัติการนั้น หากนักวิทยาศาสตร์อยากได้สเต็มเซลล์เยอะๆ แต่ใช้สเต็มเซลล์จากร่างกาย ผลที่ได้ก็คือ เซลล์จะพัฒนาช้า แบ่งเซลล์ช้า อีกทั้งการพัฒนาของเซลล์ไปเป็นเนื้อเยื่ออื่นยังมีข้อจำกัด ไม่ได้พัฒนาเป็นเซลล์อื่นได้ทุกอย่าง ตรงข้ามกับเซลล์ของเอ็มบริโอ ซึ่งแบ่งตัวได้เร็ว จากเอ็มบริโอเพียงหนึ่งเซลล์ สามารถแบ่งตัวเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ และพัฒนาไปเป็นเซลล์ของร่างกายได้หลายชนิด ไม่ว่าหัวใจ กระดูก ตับ เซลล์ทุกอย่างพัฒนาได้หมด อย่างไรก็ตาม สเต็มเซลล์จากร่างกายมีข้อดีตรงที่ไม่มีข้อจำกัดทางชีวจริยธรรมเหมือนสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน
ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถนำสเต็มเซลล์ไปใช้ประโยชน์ได้นั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องทำความเข้าใจคุณสมบัติต่างๆ ของสเต็มเซลล์ และหาทางชักนำให้สเต็มเซลล์พัฒนาไปเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่จำเพาะ และเป็นอวัยวะที่ต้องการ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยจากหลายๆ หน่วยงาน ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์จำเพาะขึ้นมาในห้องปฏิบัติการได้ อย่างไรก็ตาม การจะนำสเต็มเซลล์มาใช้ก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ เพราะจากการทดลองพบว่า เมื่อฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปในหนูแล้ว พบผลเสียประการหนึ่งคือ มีเนื้องอกเกิดขึ้นด้วย ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงต้องศึกษาผลตรงนี้อย่างรอบคอบ จะเห็นไดว่าการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึงความรู้ที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งหากต่อยอดไปเรื่อยๆ และมีความรู้มากพอ ความหวังที่จะนำสเต็มเซลล์ไปทดแทนเซลล์หรืออวัยวะบางอย่างที่เสียหาย หรือเสื่อมสภาพไปของมนุษย์เห็นท่าจะเป็นจริงขึ้นมาสักวัน และบางทีอาจถึงขั้นกลายเป็น แนวทางชะลอความแก่ของมนุษย์ก็ได้