Support
heahtyibk
0875770246
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

เซลล์ต้นแบบอวัยวะ (Stem Cell) เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-Technology) พัฒนาการวิทยาศาสตร์โลกอนาคต

boom_murata@hotmail.com | 06-03-2557 | เปิดดู 1621 | ความคิดเห็น 0

 ข่าวใหญ่ Talk of the Town ทั่วโลกสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นข่าวการทดลองและพัฒนา "เซลล์ต้นแบบอวัยวะ" (Stem Cell) ที่ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐลงนามให้เงินทุนสนับสนุนงานทำวิจัย สเต็มเซลล์อย่างมีเงื่อนไข แม้ช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่ผ่านมาได้ให้คำมั่นที่จะคัดค้านการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเซลล์ต้นแบบอวัยวะด้วยวิธีการ "ทำลายตัวอ่อนมนุษย์" (Human Embryos)

ความคิดเห็นต่อประเด็นการพัฒนาเซลล์ต้นแบบอวัยวะที่กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างแพร่หลายนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนักวิทยาศาสตร์ และภาคธุรกิจที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อว่า หากการค้นคว้าวิจัยประสบความสำเร็จ มนุษย์จะสามารถใช้การทดลองเพาะเลี้ยง-ปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์นี้มาแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยและทุพพลภาพของอวัยวะต่างๆ ของสัตว์และมนุษย์ได้ เช่น การพัฒนาเซลล์เนื้อเยื่อทดแทนได้อย่างไม่มีที่จำกัด อย่างเซลล์ตับอ่อนที่ช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือสร้างเนื้อเยื่อใหม่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง หัวใจล้มเหลว และพาร์คินสัน

สเต็มเซลล์ซึ่งถูกเรียกว่า "เซลล์มหัศจรรย์" นี้อาจนำไปสู่การรักษาโรค การสร้างอวัยวะเทียม หรือแม้แต่การทำให้อายุยืนยาวขึ้น รวมทั้งยังอาจเปลี่ยนวิธีการรักษาในวงการแพทย์อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย

สเต็มเซลล์เหล่านี้ได้รับการพัฒนาในห้องทดลองของ Neural Stem Biophamaceuticals ซึ่งมี ริชาร์ด คารร์ เป็นหัวหน้าผู้บริหาร (ซีอีโอ) เพื่อสร้างเส้นประสาทที่อาจนำไปสู่การรักษาโรคพาร์คินสันและอัลไซเมอร์ได้ และหากผลการทดลองของคารร์และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออกมาถูกต้องก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทางการแพทย์ในศตวรรษ 21

บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวถึงวิธีการเปลี่ยนจากการใช้ยาตามปกติมาใช้วิธีการแพทย์แบบที่เรียกว่า Regenerative Medicine นับตั้งแต่มีการค้นพบ Embryonic Stem Cell เมื่อปี 1998 ฮาโรล วาร์มัส ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติในเวลานั้นกล่าวว่า "การวิจัยเหล่านี้มีแนวโน้มนำไปสู่การปฏิวัติวงการแพทย์รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพและความยืนยาวของชีวิต"

ในการประชุมด้านประสาทวิทยาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยหลายแห่งระบุว่า การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ประสาทในสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจนำไปสู่การซ่อมแซมเซลล์ประสาทแอ็กซัน การรักษาโรคอัลไซเมอร์ และสมองที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงได้ ไวซ์มาน ผู้ค้นพบสเต็มเซลล์เลือดในปี 1991 กล่าวว่า "นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด"

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายคัดค้านการทำวิจัย สเต็มเซลล์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และประเทศ มากมายทั่วโลกรวมทั้งฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น และไทย ได้ยกเหตุผลการขัดต่อความถูกต้องทางหลักศาสนาและศีลธรรม นั่นเป็นเพราะตามกระบวนการพัฒนาสเต็มเซลล์ นักวิทยาศาสตร์จะนำ สเต็มเซลล์ออกมาจากตัวอ่อนมนุษย์ที่มาจากการผสมเทียมเซลล์ไข่ของผู้หญิงและเซลล์สเปิร์มของผู้ชาย และเมื่อปฏิสนธิสเต็มเซลล์ออกมาชุดหนึ่งก็จะพัฒนาเป็นตัวอ่อนมนุษย์ ดังนั้นหากนำสเต็มเซลล์ออกไป ตัวอ่อนมนุษย์นั้นก็จะตายไปในที่สุด คล้ายกับการทำแท้งมนุษย์นั่นเอง ต่างจากมุมมองของฝ่ายสนับสนุนที่อ้างว่า การนำเอาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ไม่ผิดต่อหลักศีลธรรม นั่นเพราะเป็นการผสมเทียมและยังมิได้มีการนำตัวอ่อนกลับไปฝังในรังไข่เพื่อเติบโตพัฒนาเป็นมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่ง "ตาย" ก่อนที่จะเกิด ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ออกมาเตือนว่า การทำโคลนนิ่งมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่าสัตว์ การสร้างสรรค์ตัวอ่อนมนุษย์ที่มีสุขภาพ แข็งแรงอาจมีเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับตัวอ่อนมนุษย์ที่ผิดปกติที่อาจถูกเลือกขึ้นมา

ในส่วนของประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการขัดต่อหลักศาสนาและศีลธรรมอันเป็นที่ถกเถียงของนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจแล้วก็คือ การที่ประธานาธิบดีบุชมีเงื่อนไขให้เงินสนับสนุนแก่โครงการวิจัยที่มีการทดลองกับเซลล์ต้นแบบอวัยวะจากตัวอ่อนมนุษย์ที่พัฒนาได้เพียง 60 ไลน์ หรือหลังการปฏิสนธิเพียง 2-3 วันที่ปัจจุบันกำลังพัฒนาอยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์เห็นว่า การจำกัดไลน์ของสเต็มเซลล์จะทำให้การทดลองดำเนินต่อไปได้แค่ในระยะสั้น  อีกทั้งการเข้าถึงการทำวิจัยสเต็มเซลล์ที่จำกัดไลน์ก็อาจเป็นไปได้ยากเช่นกัน นั่นเพราะเซลล์เหล่านี้ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยบริษัทธุรกิจหรือบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ค้นพบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การจะทำการทดลองใดๆ จึงกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าอย่างจำกัด หน่วยงานหรือบริษัทเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนเท่านั้นที่จะสามารถพัฒนาและก้าวหน้าต่อไปได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ การยิ่งมีไลน์ของสเต็มเซลล์มากขึ้นเท่าใด (หรือสเต็มเซลล์ที่มีการเติบโตมากขึ้น) การสร้างสรรค์งานวิจัยที่จะช่วยรักษาโรคต่างๆ ก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น

แต่ดูเหมือนสิ่งที่สหรัฐกำลังหวั่นเกรงที่สุดขณะนี้และมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ตามมาอาจเป็น คำขู่ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าอาจหันไปทำวิจัยในยุโรปเพราะมีการผ่านกฎหมายที่สนับสนุนการวิจัยด้านสเต็มเซลล์แล้ว หลายฝ่ายเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจจึงหวั่นเกรงว่าการวิจัยในสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงทำให้อาจต้องสูญเสียรายได้ไปมหาศาล และนี่เองทั้งนักวิทยาศาสตร์และภาคธุรกิจที่ได้ประโยชน์อาจใช้วิธีการกดดันรัฐบาลสหรัฐให้หาทางออกในเรื่องนี้อีกครั้ง

ความคิดเห็น

วันที่: Fri May 03 14:11:35 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0